ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ
ค่ายลูกเสือระดับชาติ ประจำภาคใต้ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง
ที่ตั้ง
- หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
ประวัติค่าย
“ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ” ด้วยกิจการลูกเสือ ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะของความเป็นผู้นำ ทั้งในด้านวิชาการ คุณธรรม จริยธรรมและเจตคติที่ดีงามเป็นที่นิยมของนักเรียน นักศึกษาและเยาวชนในโรงเรียนอย่างแพร่หลาย ทำให้มีจำนวนลูกเสือที่อยู่ในสถานศึกษาระดับต่างๆ ของหลักสูตรการเรียนการสอนสามารถได้เข้าเรียนวิชาลูกเสือ อยู่ทั่วประเทศประมาณ ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน แต่ค่ายลูกเสือแห่งชาติ มีเพียง ๒ แห่ง คือค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และค่ายหลวงบ้านไร่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ทั้ง ๒ ค่ายมีพื้นที่ไม่เพียงพอรองรับการฝึกอบรมและปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของลูกเสือ ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมของเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมและได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญ ในเรื่องสถานที่ที่จะใช้ในการฝึกอบรมและเยาวชนของชาติให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น จะต้องมีสถานที่ให้สถานศึกษาต่าง ๆ นำลูกเสือไปฝึกอบรมและปฏิบัติกิจกรรมอย่างเพียงพอ ค่ายลูกเสือแห่งชาติที่มีอยู่ทั้ง ๒ ค่าย ที่มีอยู่ก็มีพื้นที่น้อย ไม่สามารถรองรับการปฏิบัติกิจกรรมของการพัฒนาเยาวชนพร้อมกันทั่วประเทศได้ ดังนั้น จึงได้มีมติเห็นควรที่จะจัดสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติเพิ่มขึ้นอีก ๓ ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยจัดหาไปทีละภาคและไม่ได้กำหนดว่าจะสร้างในภาคใดก่อน จึงได้นำเรื่องบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ระยะที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙) ของกรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ
๑. เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติและเผยแพร่กิจกรรมลูกเสือในอนาคตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และมีพื้นที่รองรับเพียงพอต่อความต้องการใช้ของลูกเสือและหน่วยงานทั่วภาครัฐและภาคเอกชนอย่างได้มาตรฐาน
๒. เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ เนตรนารี การอยู่ค่ายพักแรมหรือกิจกรรมอื่นๆ สำหรับเยาวชน ประชาชนโดยทั่วไปและกิจกรรมของลูกเสือชาวบ้าน
๓. เพื่อให้เป็นสถานที่จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ชุมนุมลูกเสือเขต ชุมนุมลูกเสือจังหวัด ในเขตภาคอื่นและชุมนุมลูกเสือระดับอื่น ๆ
๔. เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ บำรุงรักษาป่าไม้ของชาติและพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับเป็นสภาพป่าสมบูรณ์ได้ดังเดิม
๕. เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติวิทยาของเยาวชน ประชาชนโดยทั่วไปและป้องกันการบุกรุกของเขตป่าสงวน
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมระยะที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๓๕–๒๕๓๙) กรมพลศึกษากระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบหมายให้นายทวี สุระบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ประสานกับจังหวัดตรัง โดยได้มีหนังสือ ที่ ศธ ๐๕๐๔/๓๑๗๒ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๔ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ช่วยหาสถานที่ ที่เหมาะสม ในพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ – ๑,๕๐๐ ไร่ สำหรับจัดสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติ ประจำภาคใต้
- วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๔ นายทวี สุระบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ จึงได้มาประสานงานและร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายภิญโญ เฉลิมนนท์) รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายอนุชา โมกเวช) ศึกษาธิการจังหวัดตรัง (นายจำเริญ แผ้วภัย) นายอำเภอห้วยยอด (นายประดิษฐ์ คุณสนอง) กำนันตำบลบางดี (นายสนิท ชูเมือง) และศึกษาธิการอำเภอห้วยยอด (นายปรีชา ชูสุวรรณ) ได้ดำเนินการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้สร้างค่ายลูกเสือระดับชาติประจำภาคใต้ ในพื้นที่บ้านทะเลสองห้อง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีพื้นที่ดินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารังสาด – ทะเลสองห้อง – พะยอมพอก พื้นที่โดยประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ พื้นที่ดังกล่าวมีปัจจัยครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กรมพลศึกษากำหนดและมีสภาพธรรมชาติทั้งป่าไม้ ภูเขา เนิน แหล่งน้ำสะอาด ที่กว้างขวางและสวยงามมาก ตามรายงานของจังหวัดตรังถึงอธิบดีกรมพลศึกษา ตามหนังสือ ที่ ตง ๐๐๓๐/๘๗๓๙ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๕ นอกจากนี้นายทวี สุระบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังร่วมกับนายอำเภอสิเกา (นายนิตย์ สีห์วรางกูร) ได้เสนอที่ดินชายทะเลในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่บ้านทุ่งคลองสน ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในเนื้อที่ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ ซึ่งมีหาดทราย ป่าไม้ เกาะในทะเลที่สวยงาม เพื่อจัดเป็นค่ายลูกเสือระดับชาติร่วมกันเพิ่มเติมอีกแห่งหนึ่งเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติให้พิจารณาไปในคราวเดียวกันด้วย
- เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๔ โดยการประสานงานของนายทวี สุระบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ได้นำผู้แทนของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย นายอภัย จันทวิมล,ทันตแพทย์ประพิศ รัตนปริคณฑ์,นายสุธรรม พันธุศักดิ์และคณะ ได้เดินทางเข้ามาตรวจสภาพบริเวณที่ที่จะสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติ ที่บ้านทะเลสองห้อง ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ได้ปรึกษาหารือร่วมกันและพิจารณาแล้วเห็นว่าบริเวณที่จะสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติที่บ้านทะเลสองห้องมีสถานที่เหมาะสม ดีมาก สามารถพัฒนาเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือและกิจกรรมอื่นได้เป็นอย่างดี กล่าวคือบริเวณที่จะสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติมีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ บริเวณเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ในบึงทะเลสองห้อง มีพื้นที่โดยประมาณ ๑๓๒ ไร่ อยู่ท่ามกลางบริเวณโดยรอบเป็นป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้แดง บางส่วนเป็นป่าโปร่ง บางส่วนเป็นที่โล่ง มีภูเขาเตี้ยๆ เป็นแนวกั้นเขตโดยรอบ และมีเนินดินครอบคลุมด้วยป่าไม้แดง ลาดขึ้นไปทางทิศตะวันออกอีก ๒ เนิน โอบเรียงรายอยู่รอบสระน้ำซึ่งมีน้ำตลอดปี มีหญ้ากกขึ้นบางส่วน พื้นดินโดยรอบแข็งสามารถเดินได้เกือบรอบสระน้ำ มีลักษณะทิวทัศน์เป็นที่ตรึงตาและสภาพพื้นที่ธรรมชาติที่สวยงาม ลักษณะภูมิอากาศดี ปลอดจากมลภาวะสามารถเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรังได้ สภาพของสระน้ำเว้าๆ แหว่งๆ เป็นอ่าวเล็กหลายอ่าว และตอนกลางพื้นน้ำแคบจนดูเป็นจุดแบ่งน้ำออกเป็น ๒ ตอน จึงเรียก ชื่อว่า “ทะเลสองห้อง” ส่วนกว้างที่สุดของสระน้ำ ประมาณ ๒๐ เส้น ส่วนยาวประมาณ ๔๐ เส้น ส่วนกลางน้ำลึกประมาณ ๔ – ๕ วา มีปลาน้ำจืดชุกชุมมาก สะดวกต่อการใช้น้ำเป็นอย่างยิ่ง ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยยอดประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
- วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ คณะผู้เริ่มโครงการประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (นายภิญโญ เฉลิมนนท์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง (นายทวี สุระบาล) นายอำเภอห้วยยอด (นายประดิษฐ์ คุณสนอง) นายอำเภอสิเกา (นายนิตย์ สีห์วรางกูร) กำนันตำบลบางดี (นายสนิท ชูเมือง) และศึกษาธิการอำเภอห้วยยอด (นายปรีชา ชูสุวรรณ) ได้จัดทำรายงานเพิ่มเติมยืนยันการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม นำเสนอรายงานและชี้แจงข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ โดยมีนายแพทย์บุญสม มาร์ติน เป็นประธานที่ประชุมและที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบให้ขอใช้ที่ดินทั้ง ๒ แปลงดังกล่าวสำหรับการสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติ ประจำภาคใต้ เพื่อให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการและเผยแพร่กิจกรรมลูกเสือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยมอบหมายให้ นายทวี สุระบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ร่วมกับทางจังหวัดตรังดำเนินการของอนุมัติใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และกรมป่าไม้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้เข้าใช้สถานที่สำหรับสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติที่บ้านทะเลสองห้อง ในพื้นที่ ๑,๕๘๓ ไร่ และขอยกเว้นค่าชดเชยต้นไม้จากการปลูกสร้างสวนป่า ในแปลงปลูกป่า ๔ แปลง คิดเป็นเงินโดยประมาณ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๓๕ อธิบดีกรมพลศึกษา (นายสุวิทย์ วิทสุทธิสิน) รองอธิบดีกรมพล-ศึกษาและคณะ ได้เดินทางมาดูสถานที่และสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างค่ายลูกเสือ บ้านทะเลสองห้อง ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และ ที่บ้านทุ่งคลองสน ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าไม้สน และหาดทรายขาว ยาวประมาณ ๓,๐๐๐ เมตร มีเส้นทางการคมนาคมสะดวก เหมาะสมสำหรับใช้ทำกิจกรรมทางน้ำที่สำคัญได้ดี เพราะค่ายลูกเสืออื่นยังไม่มีสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมทางน้ำที่สำคัญได้ดี
- วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งให้นายอำเภอห้วยยอด ทราบว่าขอขอบคุณที่ได้ช่วยจัดหาที่ดินเพื่อสร้างเป็นค่ายลูกเสือแห่งชาติ ที่บ้านทะเลสองห้อง ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งท่านได้ทราบและหารือกับ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติบางท่านไปแล้ว ด้วยความคิด ความตั้งใจที่จะสนับสนุนอยู่แต่เดิมแล้ว และจะสนับสนุนต่อไป (ตามหนังสือของพรรคประชาธิปัตย์) ที่ ๑๐๘/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
- วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๖ กรมป่าไม้อนุญาตให้สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติและจังหวัดตรัง เข้าไปทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารังสาดป่าทะเลสองห้อง และป่าพะยอมพอก ในท้องที่บ้านทะเลสองห้อง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เพื่อสร้างค่ายลูกเสือระดับชาติ ในพื้นที่ ๑,๕๘๓ ไร่ เป็นระยะเวลา ๓๐ ปี และอนุมัติยกเว้นค่าชดเชยต้นไม้จากการปลูกสร้างสวนป่า ในแปลง ปลูกป่า ๔ แปลง คิดเป็นเงินโดยประมาณ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าคณะลูกเสือได้เข้าใช้พื้นที่และช่วยเหลือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถรักษาสภาพป่าไม้ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ต่อไปได้เป็นอย่างดีอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม (ตามประกาศกรมป่าไม้ เรื่อง กำหนดบริเวณพื้นที่ให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐ เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘๐/๒๕๓๖ ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๖) สำหรับพื้นที่สร้างค่ายลูกเสือระดับชาติบ้านทุ่งคลองสน ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ก็ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าทำประโยชน์ได้เช่นเดียวกันแต่สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติได้ชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการก่อสร้างค่ายลูกเสือที่บ้านทุ่งคลองสน ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๔, วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๓ และเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๓ ให้ระงับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนโดยเด็ดขาด และห้ามมิให้อนุญาตการใช้พื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณี ทั้งภาครัฐและเอกชนหากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติยังมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะขอใช้พื้นที่ดังกล่าวขอให้ดำเนินการขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรี
- วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ กระทรวงศึกษาธิการได้ขอพระราชทานนามค่ายลูกเสือแห่งนี้โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายลูกเสือระดับชาติจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓ ว่า “ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (สำเนาหนังสือสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ที่ รล ๐๐๐๓/๑๔๖๙๒ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓)