ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
ค่ายลูกเสือวชิราวุธ
ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี
ที่ตั้ง ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ประวัติ “ค่ายลูกเสือวชิราวุธ” ชื่อค่ายนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายความระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นค่ายฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือทุกประเภททำนองเดียวกับโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ได้ทรงสร้างพระรามราชนิเวศน์ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๗๔
*ประวัติความเป็นมาของค่ายลูกเสือวชิราวุธสืบเนื่องจากการมีประชุมคณะกรรมการกลาง จัดการลูกเสือแห่งชาติ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ได้งบประมาณ ๓๐๔,๐๐๐ บาท จัดซื้อที่ดินบริเวณหลังเขาซากแขก ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๘๘ ไร่ ๕๘ ตารางวา โดยมอบให้ศึกษาธิการจังหวัดและอำเภอดูแลไว้จนได้เริ่มก่อสร้างตึกอำนวยการและใช้ในการฝึกอบรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นเงิน ค่าก่อสร้าง ๔,๓๐๐,๐๐๐ บาท แล้วทำพิธีเปิดค่ายฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๕ โดยพลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ปี พ.ศ. ๒๕๐๖
สมเด็จพระเจ้าภคนีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา ทรงเปิดเรือนพยาบาลเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๖ ซึ่งได้ทรงบริจาค ค่าก่อสร้างด้วยเงินพระองค์เองจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท
ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้รับงบประมาณ ๒,๐๕๕,๐๐๐ บาท จัดซื้อที่ดินอีก ๓๐๖ ไร่ ๓ งาน ๑๔ ตารางวา
ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๒ ได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๔๐ ไร่ ๓ งาน ๒๔ ตารางวา ด้วยเงินสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน ๒๓๖,๐๑๐.๗๓ บาท เพื่อรองรับงานชุมนุมฯ ครั้งที่ ๖ ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ณ บริเวณหน้าค่ายฯและเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ บริเวณหน้าพลับพลาศรีมหาราชาในค่ายลูกเสือวชิราวุธอีกด้วย
ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ ๓ อีก ๓๒ ไร่เศษ และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อให้พื้นที่ค่ายฯ เป็นผืนเดียวกัน ด้วยเงินคณะลูกเสือแห่งชาติรวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕๐๒ ไร่เศษ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ทางรถไฟได้ตัดผ่านค่ายเสียเนื้อที่ไปเกือบ ๔๐ ไร่ ค่าย จึงถูกแบ่งเป็น ๒ ตอนและในปีเดียวกันนี้กรมพลศึกษาได้ขออนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกับกรมป่าไม้โดยการตัดถนนขึ้นเขาฉลากด้วยความอนุเคราะห์ของกรมชลประทาน ปัจจุบันคงเหลือเนื้อที่ ๔๙๘ ไร่ – งาน ๗๐ ตารางวาเอกสารสิทธิ์เป็นของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้จัดสรรงบประมาณปรับปรุงอาคารสถานที่ และภูมิทัศน์ ภายในค่ายลูกเสือวชิราวุธเรื่อยมาเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมของลูกเสือในระดับชาติและระดับนานาชาติ